เอ็นเอชเค เวิลด์ > มาเรียนภาษาญี่ปุ่นกันเถอะ > หน้าแรกภาษาไทย > ครูสอนภาษาญี่ปุ่น > รูปสามารถของคำกริยา (บทเรียนที่ 35)

ครูสอนภาษาญี่ปุ่น

รูปสามารถของคำกริยา (บทเรียนที่ 35)

คำกริยารูปสามารถมี 2 ความหมาย คือ ใช้แสดงความสามารถ เช่น เมื่อต้องการพูดว่า “ดิฉันพูดภาษาญี่ปุ่นได้” ใช้รูปแสดงความสามารถของ HANASHIMASU (พูด) และพูดว่า HANASEMASU แปลว่า “พูดได้”
ส่วนอีกความหมายของคำกริยารูปสามารถ คือ ใช้แสดงว่าสภาพอย่างใดอย่างหนึ่ง ได้รับอนุญาตหรือไม่ เช่น เมื่อต้องการจะพูดว่าใช้บัตรเครดิตได้ จะใช้รูปสามารถของ TSUKAIMASU (ใช้) ซึ่งก็คือ TSUKAEMASU แปลว่า “ใช้ได้”

แต่ไม่ใช่ว่ากริยาทุกคำจะผันให้อยู่ในรูปนี้ได้ คำกริยาที่ไม่เกี่ยวกับความตั้งใจของคนไม่สามารถใช้รูปแบบนี้ได้ เช่น FURIMASU ซึ่งแปลว่า "(ฝน) จะตก"

วิธีผันคำกริยาให้อยู่ในรูปสามารถ ชุดแรก คือ คำกริยาที่มีสระในพยางค์หน้า MASU เป็น E ในกรณีนี้ หน้า MASU จะเติม RARE ดังนั้น TABEMASU (กิน) จะกลายเป็น TABERAREMASU แปลว่า “กินได้”

ชุดที่สองเป็นคำกริยาซึ่งมีสระในพยางค์หน้า MASU เป็น I
สำหรับคำกริยาเหล่านี้ การผันจะมี 2 รูปแบบ คือ

รูปแบบแรก เปลี่ยน I เป็น E ดังนั้น HANASHIMASU (พูด) กลายเป็น HANASEMASU แปลว่า “พูดได้” TSUKAIMASU (ใช้) กลายเป็น TSUKAEMASU แปลว่า “ใช้ได้”
ส่วนอีกรูปแบบ ให้เติม RARE หน้า MASU เช่น MIMASU (ดู) กลายเป็น MIRAREMASU แปลว่า “ดูได้”

แต่มีคำกริยาที่ผันแบบพิเศษ คือ KIMASU (มา) กลายเป็น KORAREMASU แปลว่า “มาได้” SHIMASU (ทำ) กลายเป็น DEKIMASU แปลว่า “ทำได้” เพราะฉะนั้น ต้องจำคำกริยาเหล่านี้เป็นพิเศษ
เรียนรู้เพิ่มเติมได้จาก "ข้อมูลเสริมการเรียน"
*ออกจากเว็บไซต์ของ NHK