เอ็นเอชเค เวิลด์ > มาเรียนภาษาญี่ปุ่นกันเถอะ > หน้าแรกภาษาไทย > ครูสอนภาษาญี่ปุ่น > การเปลี่ยนคำกริยาให้เป็นคำนาม (บทเรียนที่ 47)

ครูสอนภาษาญี่ปุ่น

การเปลี่ยนคำกริยาให้เป็นคำนาม (บทเรียนที่ 47)

ในการเปลี่ยนคำกริยาเป็นคำนาม เติม NO หรือ KOTO ต่อท้ายคำกริยารูปธรรมดา เช่น รูปพจนานุกรมหรือรูป TA

ดูตัวอย่างได้จากประโยคในบทสนทนาที่มีความหมายว่า “การเป็นครูสอนภาษาญี่ปุ่นคือความฝันค่ะ” การเปลี่ยนคำกริยา NARIMASU (เป็น/กลายเป็น) ให้เป็นคำนาม เติม NO ต่อท้ายคำกริยารูปพจนานุกรมของ NARIMASU ซึ่งก็คือ NARU จะได้ว่า NARU NO ซึ่งเป็นคำนาม ดังนั้น “การเป็นครูสอนภาษาญี่ปุ่นคือความฝันค่ะ” พูดว่า NIHONGO-KYÔSHI NI NARU NO GA YUME DESU.

ใช้คำว่า KOTO แทนคำว่า NO ได้เช่นกัน ดังนั้น NARU NO ซึ่งแปลว่า “การเป็น” หรือ “การกลายเป็น” จะได้ว่า NARU KOTO ถ้าใช้ NARU KOTO รูปประโยคจะเป็นอย่างนี้ คือ NIHONGO-KYÔSHI NI NARU KOTO GA YUME DESU

แต่ถ้าเปลี่ยนคำกริยาให้เป็นคำนามโดยนำหน้า DESU ที่ปิดท้ายประโยค จะใช้ KOTO ได้อย่างเดียวเท่านั้น ดังนั้น ถ้าจะพูดว่า “ความฝันของดิฉันคือการเป็นครูสอนภาษาญี่ปุ่นค่ะ” จะพูดอย่างไร "ความฝันของดิฉัน" คือ WATASHI NO YUME ดังนั้น ในภาษาญี่ปุ่น พูดว่า WATASHI NO YUME WA NIHONGO-KYÔSHI NI NARU KOTO DESU
ในทางกลับกัน ใช้เฉพาะ NO เพื่อเปลี่ยนคำกริยาเป็นคำนาม ถ้านำหน้าคำกริยาเกี่ยวกับการรับรู้ เช่น “ได้ยิน” หรือ “เห็น” ตัวอย่างการแต่งประโยค เช่น "ได้ยินเสียงนกร้องครับ”

“นก” คือ TORI “ร้อง” คือ NAKIMASU รูปพจนานุกรมคือ NAKU ดังนั้น “นกร้อง" หรือ "การร้องของนก” คือ TORI GA NAKU NO GA จากนั้น “ได้ยิน” คือ KIKOEMASU เมื่อนำมาแต่งประโยครวมกัน “ได้ยินนกร้องหรือการร้องของนกครับ” คือ TORI GA NAKU NO GA KIKOEMASU
*ออกจากเว็บไซต์ของ NHK