ตอบคำถามคุณ

อาจารย์ฟูจินางะ คาโอรุ และอาจารย์อิโซมูระ คาซูฮิโระ ที่ปรึกษาประจำรายการ จะตอบคำถามเกี่ยวกับภาษาญี่ปุ่นที่ทุกท่านถามเข้ามา

Q1 ชอบญี่ปุ่นและวัฒนธรรมญี่ปุ่น เข้าใจภาษาญี่ปุ่นพื้นฐานได้จากการดูอานิเมะ อยากเรียนภาษาญี่ปุ่นและคิดว่ารายการ "มาเรียนภาษาญี่ปุ่นกันเถอะ" จะมีประโยชน์มาก ๆ แต่ไม่แน่ใจว่าจะเรียนด้วยตัวเองอย่างไรถึงจะได้ผลดี

การทำความเข้าใจภาษาญี่ปุ่นง่าย ๆ ได้จากการดูอานิเมะนั้นคงเป็นเพราะได้สัมผัสรับรู้วิธีใช้คำศัพท์ในสถานการณ์จริงผ่านทางอานิเมะที่ชื่นชอบมาก ๆ สิ่งสำคัญในการเรียนภาษาคือ ดูและฟังการโต้ตอบในสถานการณ์จริง จากนั้นก็ทำความเข้าใจความหมายและการใช้คำศัพท์เหล่านั้น ค้นหาสำนวนที่มีประโยชน์แก่ตัวเองและนำไปใข้

"มาเรียนภาษาญี่ปุ่นกันเถอะ" เป็นรายการสำหรับผู้ที่ต้องการเรียนภาษาญี่ปุ่นด้วยตนเอง ถ้าเรียนกับรายการโดยใช้หนังสือประกอบการเรียนไปด้วยตามลำดับ จะค่อย ๆ สามารถเข้าใจและเรียนรู้วิธีการพูดภาษาญี่ปุ่นพื้นฐานได้

อันดับแรก ลองฟังบทสนทนาสั้น ๆ ในแต่ละบท อาจจะมีคำศัพท์และสำนวนที่ไม่เข้าใจ แต่ก็ไม่ต้องกังวลเรื่องรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านั้น ถ้าสามารถเข้าใจเรื่องราวโดยรวมได้ด้วยการอ่านคำบรรยายใต้ภาพและคำอธิบายก็เพียงพอแล้ว

ต่อไปขอให้อ่านหรือฟังคำอธิบายในช่วง "สำนวนหลัก" สำนวนหลักคือวิธีการพูดที่เป็นเนื้อหาสำคัญในบทเรียนและต้องการให้นำไปใช้ได้จริง

จากนั้น ที่มุม "ลองใช้ดู" จะเป็นการฝึกฝนสำนวนหลักในสถานการณ์ที่อาจจะประสบพบเจอเมื่อไปญี่ปุ่น ขอให้ลองพูดซ้ำหลาย ๆ รอบโดยระมัดระวังเรื่องการออกเสียงไปด้วย

ต่อมาในมุม "ทำได้ไหมนะ" เป็นการฝึกฝนโดยนำสำนวนหลักไปประยุกต์ใช้ สามารถตรวจสอบยืนยันคำตอบเป็นเสียงและตัวอักษรได้ทั้งในรายการและทางเว็บไซต์ จึงสามารถฝึกฝนด้วยตัวเองคนเดียวก็ได้

นอกจากนี้ยังมีมุม "สำนวนเสริมประจำวัน" อีกด้วย ซึ่งจะช่วยเพิ่มสำนวนที่นำไปใช้ได้สะดวกโดยจำไปใช้ทั้งอย่างนั้นได้เลย อีกทั้งยังมีข้อมูลของญี่ปุ่นที่เกี่ยวข้องกับบทสนทนาแต่ละบทด้วย

สามารถรับฟังไฟล์เสียงของรายการได้ทางเว็บไซต์กี่ครั้งก็ได้ ดังนั้น จึงสามารถเรียนภาษาญี่ปุ่นได้ตามจังหวะที่เหมาะกับตนเองไปทีละเล็กละน้อยได้

Q2 ตัวอักษรฮิรางานะ คาตากานะ และคันจิ ต่างกันอย่างไร ควรเรียนตัวอักษรชนิดใดก่อน

ตัวอักษรฮิรางานะและคาตากานะเป็นตัวอักษรแสดงเสียง เช่น เมื่อจะออกเสียง "a" (อะ) จะใช้ตัวอักษรฮิรางานะ "" หรือตัวอักษรคาตากานะ ""

แต่ในอีกด้านหนึ่ง ตัวอักษรคันจิใช้สื่อความหมาย ตัวอักษรคันจิบอกความหมายในทำนองเดียวกับเอโมจิที่เป็นภาพใบหน้ายิ้มแย้มสื่อความ เช่น คำว่า "kimasu" ในภาษาญี่ปุ่น สามารถแปลว่า "มา" หรือ "สวมใส่" ก็ได้ เมื่อเขียนด้วยตัวอักษรฮิรางานะ จะเขียนเหมือนกันสำหรับทั้งสองความหมาย แต่เมื่อเขียนด้วยตัวอักษรคันจิจะได้ว่า "来ます" และ "着ます" ตามลำดับ ทำให้แยกความแตกต่างได้โดยง่าย

โดยพื้นฐาน ภาษาญี่ปุ่นเขียนด้วยตัวอักษรคันจิและฮิรางานะ โดยใช้ตัวอักษรคันจิเขียนส่วนที่แสดงความหมาย เช่น นาม กริยา ส่วนตัวอักษรฮิรางานะใช้เขียนส่วนที่เหลือ แต่เมื่อเขียนคำซึ่งมาจากภาษาต่างประเทศ จะใช้ตัวอักษรคาตากานะ เช่น คำว่า "コーヒー" (koohii) แปลว่า "กาแฟ" (coffee) หรือชื่อ "タム" (Tamu) ซึ่งก็คือ "ทัม" สำหรับคนที่มาจากต่างประเทศ และในทำนองเดียวกัน ชื่อประเทศอื่น เช่น "ベトナム" (Betonamu) แปลว่า "เวียดนาม" ก็ใช้ตัวอักษรคาตากานะเขียน

เมื่อพยายามจะจดจำตัวอักษร แนวทางที่น่าจะดีคือ ก่อนอื่นเริ่มจำตัวอักษรฮิรางานะและคาตากานะก่อน จากนั้นจึงจำตัวอักษรคันจิ เพราะถ้าจำตัวอักษรฮิรางานะและคาตากานะได้ก็จะสามารถเขียนภาษาญี่ปุ่นง่าย ๆ ได้ ส่วนตัวอักษรคันจินั้น คิดว่าค่อย ๆ จำไปทีละนิดเมื่อได้พบเห็นน่าจะดี

Q3 จะพิมพ์ตัวอักษรคันจิทางคีย์บอร์ดคอมพิวเตอร์และสมาร์ตโฟนอย่างไร

เมื่อจะพิมพ์ภาษาญี่ปุ่นบนคีย์บอร์ด ส่วนใหญ่จะพิมพ์ตัวอักษรโรมันลงไปก่อน จากนั้นจึงแปลงตัวอักษรโรมันเป็นตัวอักษรญี่ปุ่น

เช่น เมื่อจะพิมพ์คำว่า "แม่น้ำ" เป็นตัวอักษรคันจิ ซึ่งมีเสียงอ่าน "kawa" ก่อนอื่นจะพิมพ์ "k" "a" "w" "a" ซอฟต์แวร์จะแปลงตัวอักษรเหล่านี้เป็นตัวอักษรฮิรางานะ "かわ" จากนั้นก็จะแสดงผลเป็นรายการตัวอักษรคันจิที่เป็นไปได้ขึ้นมาให้ดู เช่น "" ซึ่งแปลว่า "หนัง" (เช่น หนังสัตว์) หรือ "" ซึ่งแปลว่า "แม่น้ำ" ต่อมาเราก็เลือกตัวอักษรที่ถูกต้องตรงตามความหมายที่จะสื่อ ในที่นี้คือ "แม่น้ำ" หรือ "" นั่นเอง

บนสมาร์ตโฟนก็เช่นกัน มีวิธีการพิมพ์ตัวอักษรโรมันลงไปได้ หรือจะพิมพ์ตัวอักษรญี่ปุ่นโดยตรงเลยก็ได้ การพิมพ์โดยตรงนี้เป็นการพิมพ์ตัวอักษรฮิรางานะลงไปด้วยการปัดนิ้วบนจอสัมผัสและเลือกตัวอักษรที่ต้องการ ต่อมาตัวอักษรคันจิที่เป็นตัวเลือกจะปรากฏขึ้นมาเหมือนเวลาที่พิมพ์โดยใช้คีย์บอร์ดคอมพิวเตอร์

Q4 ในบทเรียนที่ 6 ได้เรียนรู้เกี่ยวกับตัวเลขในภาษาญี่ปุ่น แต่มีบางคำออกเสียงแตกต่างกันเล็กน้อยจากที่ตัวเองเคยเรียนมาจากศิลปะการป้องกันตัวบูโด เลข "4" ออกเสียงเป็น "shi" แทนที่จะเป็น "yon" และเลข "7" ออกเสียงเป็น "shichi" แทนที่จะเป็น "nana" ไม่ทราบว่าแตกต่างกันอย่างไร

ภาษาญี่ปุ่นมีวิธีการนับ 2 แบบ แบบแรกคือวิธีที่มีมาตั้งแต่โบราณ โดยนับว่า "hitotsu・futatsu・mittsu・yottsu・itsutsu・muttsu・nanatsu・yattsu..." ส่วนแบบที่สองคือวิธีนับซึ่งมีที่มาจากจีน โดยนับว่า "ichi・ni・san・shi・go・roku・shichi hachi..."

ในรายการ "มาเรียนภาษาญี่ปุ่นกันเถอะ" ทางรายการแนะนำการนับ "ichi・ni・san・yon・go・roku・nana・hachi..." และสำหรับเลข "4" ออกเสียงว่า "yon" ไม่ใช่ "shi" ส่วนเลข "7" ออกเสียงว่า "nana" ไม่ใช่ "shichi" คำว่า "yon" มาจาก "yottsu" ซึ่งเป็นวิธีการนับแบบโบราณ และ "nana" มาจาก "nanatsu"

โดยทั่วไป เมื่อจะใช้ตัวเลขเหล่านี้โดด ๆ หรือจะพูดถึงจำนวนว่ามีเท่าไร จะนับเช่นนี้

อย่างไรก็ตาม ในบางสถานการณ์ เช่น ศิลปะการป้องกันตัวบูโด ซึ่งมีการนับลำดับของการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง จะนับว่า "ichi・ni・san・shi・go・roku・shichi・hachi..."

โดยพื้นฐานแล้ว มีข้อกำหนดเกี่ยวกับความแตกต่างในการใช้ ดังนั้น แค่ขอให้ค่อย ๆ จำไป เช่น เมื่อจะพูดถึงราคา "400 เยน" จะต้องใช้ "yon" และพูดว่า "yon-hyaku-en" สำหรับ "4,000 เยน" จะพูดว่า "yon-sen-en" สำหรับเดือนเมษายนจะใช้ "shi" และพูดว่า "shi-gatsu" ส่วน "nana" ใช้สำหรับ "700 เยน" โดยพูดว่า "nana-hyaku-en" และ 7,000 เยน คือ "nana-sen-en" แต่เดือนกรกฎาคมออกเสียงว่า "shichi-gatsu"

Q5 "นาที" ในภาษาญี่ปุ่น มักออกเสียงว่า "fun" แต่กับตัวเลขบางตัว จะออกเสียงว่า "pun" ทำให้เกิดความสับสนมาก มีกฎอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้บ้างหรือไม่

โดยพื้นฐานแล้ว คำว่า "นาที" อ่านว่า "fun" แต่ในบางกรณี เสียง f ของ "fun" เปลี่ยนเป็นเสียง p กลายเป็น "pun" การเปลี่ยนแปลงนี้เป็นขนบดั้งเดิมในสมัยก่อนที่ว่า "ha hi fu he ho" เคยออกเสียงเป็น "pa pi pu pe po"

เพียงแค่จำว่าเมื่อไรจะใช้ "pun" ก็เพียงพอแล้ว คำว่า "นาที" จะออกเสียงเป็น "pun" ก็ต่อเมื่อตามหลังเลข 1・3・6・8 หรือ 10 และกลายเป็น "ippun", "sanpun", "roppun", "happun" และ "juppun"ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม มีบางคนออกเสียง "4 นาที" ว่า "yonpun" และ "8 นาที" ว่า "hachifun"

แต่โดยทั่วไป ตัวเลขที่นำหน้าลักษณนามจะเป็นตัวกำหนดเสียงของลักษณนามนั้น และเป็นเช่นนี้ในกรณีของลักษณนามคำอื่นด้วย เช่น "hon" ซึ่งใช้นับวัตถุที่มีลักษณะยาว ๆ อย่างร่มและดินสอ อาจจะดูเป็นเรื่องยุ่งยากซับซ้อน แต่ก็ขอให้ค่อย ๆ จดจำไปเท่าที่จำเป็น

Q6 เมื่อต้องการถามอีกฝ่ายหนึ่งว่า "มีลูกกี่คน" ประโยดใดถูกต้อง ระหว่าง "Kodomo wa nan-nin arimasu ka" กับ "Kodomo wa nan-nin imasu ka" อยากให้ช่วยอธิบายความแตกต่างระหว่าง "arimasu" กับ "imasu"

ใช้ "imasu" สำหรับสิ่งมีชีวิตที่ "เคลื่อนไหว" เช่น คน และสัตว์ ส่วน "arimasu" ใช้กับสิ่งของ

เช่น ในบทที่ 21 เราได้เรียนรู้ประโยค "Tokeedai no naka ni imasu" แปลว่า "อยู่ข้างในหอนาฬิกา" ส่วนบทเรียนที่ 11 มีประโยค "Omamori wa arimasu ka" แปลว่า "มีเครื่องรางไหม" ดังนั้น เมื่อถามว่า "มีลูกกี่คน" ใช้ "imasu" และพูดว่า "Kodomo wa nan-nin imasu ka"

สมัยก่อนบางครั้งมีการใช้คำว่า "arimasu" เมื่อพูดถึงสมาชิกในครอบครัว เป็นต้น และยังอาจจะพบตัวอย่างประโยคเช่นนั้นในหนังสือเรียนเก่า ๆ แต่ปัจจุบันภาษามาตรฐานคือคำว่า "imasu"

ลองดูตัวอย่างที่เข้าใจง่าย ๆ ดังนี้ ประโยคที่ว่า "ที่บ่อมีปลา" พูดว่า "Ike ni sakana ga imasu" ใช้คำว่า "imasu" เพราะปลามีชีวิตและเคลื่อนไหว ในทางกลับกัน ถ้าต้องการพูดว่า "ที่ตู้เย็นมีปลา" พูดว่า "Reezooko ni sakana ga arimasu" คำที่ถูกต้องคือ "arimasu" เพราะปลาไม่เคลื่อนไหวแล้ว